ในปัจจุบันการเลือกเช่าที่พักอาศัยทั้งหอพักและอพาร์ทเม้นท์ ถือว่ายังเป็นที่ต้องการสำหรับผู้ที่มองหาที่พักใกล้ที่ทำงาน ใกล้แนวรถไฟฟ้า หรือผู้ที่ไม่ต้องการพักอาศัยเป็นเวลานาน แต่รู้ไหมครับว่า ผู้เช่าส่วนมากเมื่อเจอห้องพักที่ถูกใจแล้ว จะรีบจับจองและเข้าอยู่โดยทันที ถึงแม้ผู้เช่าจะรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หลายๆคนกลับไม่ยอมอ่านเงื่อนไขและข้อตกลงที่ทางหอพักได้กำหนดไว้ ส่วนมากจะเปิดผ่านๆเพื่อเซ็นชื่อหน้าสุดท้ายแล้วเข้าอยู่ทันที สุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาขึ้นผู้เช่าจึงไม่อาจโต้แย้งได้ ทำให้เกิดคดีความระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งวันนี้ผมมีเทคนิคและความรู้เกี่ยวกับการทำสัญญาเช่า ก่อนเข้าอยู่อาศัยมาฝากกันครับ
5 ข้อควรรู้ ก่อนเซ็นสัญญาเช่าห้องพัก
1.ข้อมูลของผู้เช่าและผู้ให้เช่า ข้อมูลและรายละเอียดของผู้เช่าและผู้ให้เช่าถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องเช็คให้ละเอียดว่าถูกต้องหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่ บ้านเลขที่ ตรอก ซอย ถนน และชื่อนามสกุลผู้เช่าและผู้ให้เช่า ต้องชัดเจนทุกตัวอักษร
2.ค่าเช่าต่อเดือน ค่าเช่าของห้องพักเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ผู้เช่าควรรู้รายละเอียดทุกอย่าง ในสัญญาเช่าต้องระบุค่าเช่าให้ชัดเจน หรือถ้ามีค่าอื่นๆนอกเหนือจากค่าเช่า คือค่าอะไรบ้าง วัน-เวลาที่ต้องชำระค่าเช่าคือทุกวันที่เท่าไหร่ขอเดือน จ่ายค่าเช่าล่าช้าสุดได้ไม่เกินกี่วัน มีค่าปรับจากการจ่ายล่าช้ากี่บาท เพราะบางหอพักจะคิดค่าปรับเป็นรายวันเลยทีเดียว ตรงส่วนนี้สำคัญมากๆต้องศึกษาและขอรายละเอียดให้ครบถ้วนครับ
3.ค่าประกันหอพัก ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฉบับใหม่ พ.ศ.2561 เจ้าของหอพักจะเรียกเก็บค่าประกันห้องพักได้ไม่เกินราคาค่าเช่า 1 เดือน วันเดือนปีที่เข้าอยู่กับวันหมดสัญญาต้องระบุให้ถูกต้อง ถ้าผู้เช่าอยู่ครบกำหนดแล้ว จะสามารถรับเงินประกันคืนได้ภายในกี่วัน นี่คือสิ่งที่ผู้เช่าต้องรู้ไว้เช่นกันครับ
สามารถอ่านเอกสารประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฉบับใหม่ พ.ศ.2561ฉบับเต็มได้ ที่นี่
4.ค่าน้ำ-ค่าไฟ(ต่อหน่วย) การเก็บค่าน้ำค่าไฟ ต้องเก็บตามมิเตอร์น้ำและมิเตอร์ไฟฟ้า เมื่อก่อนนั้นทางหอพักจะกำหนดค่าน้ำและค่าไฟเอง ราคาต่อหน่วยจึงค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันผู้ให้เช่าต้องจัดเก็บค่าน้ำและค่าไฟฟ้า เหมือนกับอัตราที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เรียกเก็บกับบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5.กฎระเบียบหอพักและค่าปรับต่างๆ หอพักทุกที่จะมีข้อห้าม กฎระเบียบ และค่าปรับเมื่อผู้เช่าฝ่าฝืนและกระทำความผิดภายในหอพัก แต่ละที่จะมีข้อห้ามไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้เช่าควรขอดูรายละเอียดข้อห้ามและกฎระเบียบกับทางหอพัก เพื่อป้องกันการทำผิดกฎ เพราะหอพักบางที่ ค่าปรับค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดก่อนที่จะผู้เช่าจะเข้าอยู่อาศัย คือการอ่านรายละเอียดของสัญญาเช่า ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทำให้รู้ถึงกฎระเบียบต่างๆของที่พัก ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ต้องจ่าย และยังป้องกันการถูกเอาเปรียบจากช่องโหว่ในสัญญาของผู้ให้เช่าได้อีกทางหนึ่ง เห็นไหมครับว่าเพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันปัญหาที่ตามมาได้หลายๆเรื่องเลยล่ะครับ